ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 18 สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้นถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดีบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้ |
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2559 การที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า บนปกหนังสือและแบบทดสอบทั้งห้าเล่มของจำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏว่าที่หน้าปกหนังสือและแบบทดสอบดังกล่าวเครื่องหมายคำว่า "KENDALL SQUARE" ประกอบรูปประดิษฐ์อาคารทรงกลม ที่จำเลยที่ 1 ใช้เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่ด้วย แม้จะมิใช่เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ของโจทก์ในลักษณะที่สาธารณชนอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าก็ตาม แต่ปรากฏจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าหนังสือคู่มือประกอบการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของจำเลยที่ 1 มีไว้เพื่อใช้ในห้องเรียน มิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย สาธารณชนทั่วไปย่อมไม่ทราบว่าคำว่า "KENDALL SQUARE" เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ในขณะที่คำว่า "TOEFL" ของโจทก์ มีลักษณะที่สาธารณชนคือกลุ่มนักศึกษาไทยที่ประสงค์จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนรู้จักเครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ของโจทก์เป็นอย่างดี เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าหนังสือและแบบทดสอบกับสินค้าหนังสือและแบบทดสอบของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420 ชื่อโดเมนเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อความสะดวกในการจดจำและเรียกขานโดยสื่อถึงเจ้าของชื่อโดเมนในการติดต่อระหว่างกันในระบบเครือข่ายหรืออินเทอร์เน็ต อันเป็นการใช้ตามวัตถุประสงค์ของชื่อหรือนามตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ซึ่งผู้เป็นเจ้าของนามจะได้รับความคุ้มครองในการใช้นามของตนโดยมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นใช้ชื่อหรือนามเดียวกันนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของชื่อหรือนามเป็นเหตุให้เจ้าของชื่อหรือนามนั้นได้รับความเสื่อมเสียประโยชน์ รวมตลอดทั้งมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียประโยชน์นั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของชื่อโดเมนอันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ กรณีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 หรือไม่ นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า "TOEFL" และคำว่า "TOEIC" ของโจทก์ซึ่งได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโดเมนของจำเลยที่ 1 เพราะสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นั้นแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับรายการสินค้าตามที่จดทะเบียนไว้ แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโดเมน www.toeffthailand.wordpress.com ชื่อโดเมน www.2toeic.com และชื่อโดเมน www.7toefl.com กับสินค้าหนังสือ หนังสือเล่มเล็ก หนังสือคู่มือ แบบทดสอบ กระดาษคำตอบข้อสอบ และกับบริการพัฒนาดำเนินการและให้คะแนนการทดสอบประเมินความสามารถ แจกเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบ เปิดเผยคะแนนให้แก่ผู้สอบและสถาบัน ดำเนินการค้นคว้าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบเพื่อความพัฒนาก้าวหน้าในด้านทฤษฎีและในด้านปฏิบัติ บริการทดสอบและประเมินความสามารถในภาษาอังกฤษ การค้นคว้าวิจัยในด้านการศึกษา บริการให้การศึกษาตามที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ จึงเป็นการกระทำที่อยู่นอกขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 32 ถึง 43 เป็นข้อต่อสู้ที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดลิขสิทธิ์จะหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้และมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว หาใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องกล่าวบรรยายในคำฟ้องไม่ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้รับค่าตอบแทนจากการจำหน่ายหนังสือคู่มือและแบบทดสอบ จำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนในการสอนจากผู้เรียนหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการสอบ "TOEFL" ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนน้อยก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าการสอนที่ได้รับค่าตอบแทนจากผู้เรียนในหลักสูตรดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานวรรณกรรมอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนแล้วนำไปแจกแก่ผู้เรียนในหลักสูตรซึ่งจำเลยที่ 1 จัดสอนถึงวันละ 4 รอบ มีผู้เรียนจำนวนประมาณวันละ 80 คน จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงสำเนาเดียวเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน ทั้งผู้ทำซ้ำคือจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เรียนและมีการทำซ้ำเกินกว่า 1 สำเนา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การกระทำที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรอันจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (1) (3) (6) (7) แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ส่วนการคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 33 นั้น จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควร และมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แต่ปรากฏว่าการนำเอาข้อสอบอันเป็นงานอันที่ลิขสิทธิ์ของโจทก์มาทำซ้ำเป็นหนังสือคู่มือนั้น เป็นส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญทั้งหมดของงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งฉบับและมีปริมาณเป็นจำนวนมาก จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์เพียงบางตอนตามสมควร ส่วนข้อความที่ปรากฏในหนังสือและแบบทดสอบว่า "An official TOEFL publication developed by ETS test specialist Copyright @ 1998 ETS. Unauthorized reproduction of this book is prohibited." ก็เป็นข้อความที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันเป็นข้อความที่โจทก์ประกาศแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และแสดงเจตนาห้ามการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เสียก่อน มิใช่การที่จำเลยที่ 1 แสดงความรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 คำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 ยุติการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า "TOEFL" คำว่า "TOEIC" และคำว่า "ETS" ของโจทก์และยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 เก็บรวบรวมตำราเรียนแบบฝึกหัดและแบบทดสอบ ซีดี-รอม และเอกสารอื่นใดทั้งหมดที่ปรากฏเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อจัดการทำลายนั้น เป็นคำขอในลักษณะที่ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้หรือเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป ถือเป็นคำขอที่มุ่งบังคับถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ในอนาคต จึงไม่อาจบังคับให้ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การตัดฟ้องว่าสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ แต่จำเลยที่ 1 มิได้กล่าวในคำให้การในส่วนนี้ให้ชัดแจ้งว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความเรื่องใด อายุความเริ่มนับโดยโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ตั้งแต่วันใด และมีกำหนดอายุความเท่าใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธในเรื่องอายุความย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13158/2555 โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า "KLOSTER" และ "คลอสเตอร์" ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย จำเลยมีสิทธิใช้ตราบเท่าที่บริษัท ท. ยังมีสิทธิผลิตเบียร์คลอสเตอร์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และเมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของโจทก์โดยชอบเนื่องจากบริษัท ท. มีหนี้สินจำนวนมากอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ จำเลยจึงต้องระงับการใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคลอสเตอร์ของโจทก์ตั้งแต่วันถัดจากวันที่บอกเลิกสัญญา การที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลังการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ที่โจทก์มีหนังสือห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า "คลอสเตอร์" โดยอ้างว่าจำเลยละเมิดสิทธิโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยชอบ การดำเนินการของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการใช้ดุลพินิจบริหารจัดการบริษัทที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งคู่ความทุกฝ่ายมีโอกาสโต้แย้งคัดค้านในกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มาตรา 90/1 ถึง 90/90 ได้โดยชอบอยู่แล้ว จนคดีในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการยุติไปแล้วตามคำสั่งฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง ถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อสมคบกันครอบงำกิจการของจำเลยโดยไม่สุจริต ป.พ.พ. มาตรา 18 ให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เป็นของจำเลยเท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยได้ คำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำขอบังคับที่ไม่อาจทำได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9513/2554 คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยกับพวกละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ โดยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงที่มีรูปทรง สัณฐาน ขนาดและสีอันเป็นการใช้การประดิษฐ์ที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ก่อนแล้วหรือไม่ และในคดีหมายเลขดำที่ ทป. 120/2548 มีข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยผลิต ขาย และเสนอขาย ผลิตภัณฑ์ลูกบอลดับเพลิง โดยละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 18966 ของโจทก์หรือไม่ เห็นได้ว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 และคดีหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 ข้างต้นมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์คนละสิทธิแตกต่างกัน มูลเหตุแห่งการละเมิดสิทธิอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ก่อให้โจทก์มีอำนาจฟ้องย่อมแตกต่างกัน มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ชอบที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเป็นคนละคดีกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสอง ปัญหาว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการใช้นามหรือชื่อของบุคคลนั้น แม้บุคคลอื่นอาจใช้ชื่อคล้ายกันได้ก็ตามแต่ก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ใช้อยู่ก่อนต้องเสื่อมเสียประโยชน์โดยมิชอบโดยไม่ได้รับความยินยอม มิฉะนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการใช้ชื่อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420 หรือ 421 และกรณีผู้มีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็มีลักษณะอันควรอนุโลมใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิในชื่อทางการค้าด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า เมื่อปี 2542 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า SIAM SAFETY PREMIER CO., LTD. และโจทก์ได้ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงโดยเฉพาะลูกบอลดับเพลิง ซึ่งกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีการดำเนินการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จนได้รับสิทธิบัตรโดยให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งโจทก์ได้ใช้ชื่อดังกล่าวประกอบกิจการดังกล่าวและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับรูปประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว ดังนี้จึงฟังได้ว่าชื่อดังกล่าวมีลักษณะเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในภายหลังเมื่อปี 2546 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. ซึ่งนอกจากจะคล้ายกับชื่อทางการค้าของโจทก์แล้วยังได้นำคำที่เป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าของโจทก์คือคำว่าสยามเซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY มาใช้เป็นส่วนสำคัญในชื่อบริษัทจำเลย การใช้คำที่เป็นส่วนสำคัญของชื่อทางการค้าของโจทก์เช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่จะซื้อสินค้าสับสนหลงผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกันได้ โดยแม้ชื่อของโจทก์จะมีคำว่า "พรีเมียร์" ต่อท้ายคำดังกล่าวและชื่อของจำเลยจะมีคำว่า "เทคโนโลยี" ต่อท้ายคำดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นคำที่ไม่มีลักษณะเด่นที่มีความสำคัญสำหรับสังเกตจดจำได้ดังเช่นคำว่า สยาม เซพตี้ หรือแม้ผู้ซื้อจะสังเกตโดยละเอียดเห็นความแตกต่างดังกล่าวได้ก็อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นบริษัทเครือเดียวกับโจทก์หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงถือได้ว่าจำเลยใช้คำว่า สยามเซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์ และจำเลยยังใช้ชื่อเช่นนี้ในการประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับโจทก์ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีโอกาสทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าของตนได้ และเมื่อปรากฏว่าจำเลยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรจนเกิดมีคดีพิพาทในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กันมาแล้ว หากปรากฏว่าทำให้เกิดผลเสียต่อการประกอบกิจการของโจทก์ก็ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ แม้จำเลยจะทำกล่องบรรจุสินค้าให้มีสีแตกต่างกับของโจทก์และมีการพิมพ์ชื่อบริษัทจำเลยรวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและชื่อบริษัทจำเลยหรือสำนักงานของจำเลยอยู่ห่างจากโจทก์มากก็ตาม แต่ลักษณะการขายสินค้าของโจทก์และจำเลยเป็นไปในลักษณะกระจายการขายไปทั่วประเทศ เมื่อมีชื่อในส่วนสำคัญเหมือนกันก็ย่อมทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดได้อยู่นั่นเอง จากเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงเชื่อได้ว่า การที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวในการประกอบกิจการของจำเลยเช่นนี้ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 และ 421 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับห้ามจำเลยใช้ชื่อโดยละเมิดต่อโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ การที่จำเลยนำคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY อันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์มาใช้อันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ด้วยเหตุที่การใช้ชื่อนั้นทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ซึ่งเมื่อจำเลยใช้ชื่อจนทำให้โจทก์เสียหายดังกล่าวซึ่งมีการใช้และการเสียหายเกิดขึ้นตลอดเวลาที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าดังนั้น ตราบที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์อยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดเวลาเรื่อยมา มิใช่เป็นการละเมิดครั้งเดียวในวันที่จำเลยใช้ชื่อนี้แต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ |